กดแชร์เอาไว้อ่านทีหลัง หรือแชร์ให้เพื่อน คลิกด้านล่างเลยจ้า
CAMPHUB in focus

ชวนคุยกับ ‘พี่ป้อง ไกลบ้าน’ ถึงความเชี่ยวชาญในวิชาประวัติศาสตร์ และโอกาสเมื่อวัยรุ่นไทยอยากย้ายประเทศ

ฮาโหลน้องๆ ทุกคน กลับมาเจอกันอีกแล้วใน CAMPHUB in focus เจาะเบื้องลึก คุยเบื้องหลัง ทั้งวิธีคิด ประสบการณ์ และแรงบันดาลใจของคนไทยเจ๋งๆ ทั้งที่อยู่ในและต่างประเทศ

TODAY’s focus วันนี้ขออาสาพา CAMPHUBBER ทุกคนมาพูดคุยกับ พี่ป้อง – ชมะนันท์ จันทร์ศรี หรือถ้าบอกชื่อนี้หลายคนน่าจะคุ้นกว่า เจ๊ป้อง ไกลบ้าน ของเรานั่นเอง



เจ๊ป้องเริ่มเป็นที่รู้จักในฐานะแขกรับเชิญของ ไกลบ้าน รายการพาเที่ยวต่างประเทศแบบอารมณ์ดี แถมมีความรู้ติดตัว ที่พาเราทัวร์โดยติวเตอร์ภาษาอังกฤษผู้เป็นที่รักของเด็กไทยอย่าง พี่ฟาโรส แห่ง Farose Academy อยู่ๆ วันดีคืนดี ‘พี่ฟา’ ชักชวน ‘พี่ป้อง’ มาร่วมรายการ ความสนุกสนานจึงบังเกิด!!

ด้วยประสบการณ์การใช้ชีวิตที่ฝรั่งเศสร่วม 20 ปี พี่ป้องจึงบรรยายเรื่องราวของประเทศนี้ได้อย่างถึงพริกถึงขิง จนเราคนดูได้ความรู้แบบสุด แถมหัวเราะไม่หยุดไปกับมุกของสองเพื่อน นอกจากนี้ ตัวตนของพี่ป้องที่ย้ำชัดถึงอุดมการณ์ด้านเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและหลักการประชาธิปไตย ก็ยิ่งส่งให้เด็กรุ่นใหม่ประทับใจในตัวคนไทยสัญชาติฝรั่งเศสคนนี้ไปโดยปริยาย

อย่างไรก็ดี น้อยคนนักที่จะรู้ว่าเบื้องหลังความรักในวิชาประวัติศาสตร์และโอกาสที่ทำให้พี่ป้องหรือเจ๊ป้องได้ ‘ย้ายประเทศ’ ไปอยู่ที่แดนน้ำหอมคืออะไร เพราะงั้นวันนี้ พี่วอร์ม CAMPHUB จะพาน้องๆ ไปหาคำตอบจากเจ๊ป้องพร้อมกัน

ถ้าพร้อมแล้วก็…ไปทัวร์ปารีสกันเลย!!



หลายคนบอกว่าวิชาประวัติศาสตร์น่าเบื่อ มีแต่ท่องจำ แต่พี่ป้องดูไม่ได้คิดแบบนั้นเลย พี่มีมุมมองต่อวิชานี้แบบไหน

จริงๆ ก็น่าเบื่อนะ 5555 ล้อเล่นๆ พี่ว่าวิชานี้จะสนุกไม่สนุกขึ้นอยู่ที่ตัวคน วิชาสายมนุษย์ เราพูดถึงวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ ตัวเนื้อเรื่องจริงๆ สนุกอยู่แล้ว พี่จะพูดแบบนี้บ่อยๆ เพราะพี่มีรุ่นน้องที่เป็นอาจารย์ในสายนี้เยอะ พี่บอกว่า

ถ้าลูกศิษย์เธอเบื่อเนี่ย ปัญหาอยู่ที่เธอนะ เพราะเรื่องที่เธอสอนน่ะสนุกมาก จริงๆ ประวัติศาสตร์สนุกเหมือนนิยายเลย แต่ถ้าเธอสอนมาแล้วน่าเบื่อ คงเป็นเธอที่ต้องพิจารณาตัวเอง 5555


ทำไมพี่ป้องมีความรู้ประวัติศาสตร์เยอะจัง

อาจจะเพราะเราชอบดูงาน ชอบเข้าพิพิธภัณฑ์ ก็เลยมีความรู้ประวัติศาสเข้าไปอยู่ในหัว เวลาอยู่ในรายการ พี่จะพูดถึง ‘ศตวรรษที่…’ ‘ช่วงที่…’ อย่างโน้นอย่างนี้ ส่วนหนึ่งก็มาจากการอ่านแหละ แต่ส่วนใหญ่มาจากการที่เราได้ไปเที่ยว กลายเป็นว่าพอเราได้ไปเที่ยวบ่อยๆ เจอบ่อยๆ เราก็แทบจะไม่ต้องจำเลย



ประเทศฝรั่งเศสส่งเสริมให้คนสนใจประวัติศาสตร์มากกว่าที่ไทยมั้ย

ก่อนจะบอกให้เรารู้อะไรซักอย่าง ที่ฝรั่งเศสจะชอบปูพื้นฐานก่อน ธรรมชาติของคนที่นี่จะต้องบอกว่าเรื่องนี้มีความเป็นมาอย่างไร มีการอธิบายปูมหลังตลอด อย่างในพิพิธภัณฑ์ ก่อนที่เราจะเข้าห้องๆ หนึ่ง เขาจะมีคำอธิบายที่มาที่ไปเสมอและที่ดีมากๆ คือการอธิบายของเขาจะไม่ใช่คำอธิบายเยอะๆ ยาวๆ แต่จะเป็นข้อมูลที่ผ่านการสรุปและสังเคราะห์มาแล้ว เขาสรุปมาแล้วว่าถ้าคุณจะดูงานศิลปะชิ้นนี้ให้เข้าใจ คุณต้องรู้ก่อนว่าบริบทของงานชิ้นนี้ อิทธิพลที่มีต่องานชิ้นนี้คืออะไร ซึ่งการย่อยข้อมูลแบบนี้ พี่มองไม่ค่อยเห็นในประเทศไทยนะ 


ในเมื่อรู้อดีตไปก็กลับไปแก้ไขอะไรไม่ได้ แล้วจะรู้ไปทำไม สนใจปัจจุบันกับอนาคตไม่ดีกว่าเหรอ

สนใจปัจจุบันกันอนาคตก็ดีนะ 5555 แต่ปัญหาคือถ้าเราไม่รู้ว่าปัจจุบันเกิดขึ้นได้ยังไง เราก็คงอธิบายปัจจุบันไม่ได้ ถูกมั้ย

ยกตัวอย่างเรื่องรถไฟความเร็วสูง ถ้าเราสนใจแค่ปัจจุบัน เราก็จะบอกได้แค่ว่า ตอนนี้เกิดอะไรขึ้น อ๋อ ตอนนี้จีนมีรถไฟความเร็วสูงแล้วนะ ไทยเราไม่มี นี่คือการเปรียบเทียบแบบปัจจุบัน ซึ่งได้แค่ Fact แต่ถ้าเราอยากไปให้ลึกกว่านั้น มันก็ต้องเกิดจากการตั้งคำถาม อ้าว แล้วทำไมไทยถึงไม่มีรถไฟความเร็วสูงแบบจีน สุดท้ายเราก็ต้องย้อนกลับไปดูเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์อยู่ดี

เพราะฉะนั้น ถ้าเราสนใจแค่ปัจจุบัน เราอาจจะทำอะไรต่อไปไม่ได้ ได้แต่ยอมรับอย่างเดียว แต่ถ้าเราเรียนประวัติศาสตร์ เราคงได้รู้ว่าเมื่อ 10 ปีที่แล้วเกิดความขัดแย้งทางการเมือง เราจึงเอาบางเรื่องอย่างการคมนาคมที่ควรจะอยู่เหนือการเมืองมาได้รับผลด้วย การศึกษาประวัติศาสตร์ทำให้เราเข้าใจมากขึ้นว่าการที่เราไม่มีรถไฟฟ้าไม่ใช่เพราะเราขาดทรัพยากร แต่มีเหตุผลอย่างอื่นซึ่งส่งผลไปถึงอนาคต ถ้างั้นต่อไปนี้ การตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องขนส่งเราควรจะให้องค์กรอิสระที่ไม่ขึ้นตรงกับรัฐบาลเป็นผู้จัดการดูแลมั้ย เห็นมั้ย ถ้าเอาอดีตมาคิด เราก็จะมีการแก้ไข เราจะได้ไม่ตกรถไฟอีก เหมือนที่คนพูดกัน มันก็มีส่วนจริงที่ว่า เราเรียนประวัติศาสตร์ก็เพื่อไม่ทำให้ประวัติศาสตร์มันซ้ำรอย



อยากให้พี่ป้องแชร์เทคนิค ‘เรียนประวัติศาสตร์ยังไงไม่ให้จำสับสน’

เทคนิคคือพี่จะจำเป็นบล็อก เวลาพี่พูดศตวรรษหรือยุคต่างๆ พี่ไม่ได้พูดให้ดูเก๋ แต่มันคือวิธีจำของเรา เวลาเรานึกถึงยุคอะไรขึ้นมา เราจะเห็นเป็นภาพของบล็อกนั้น อาจจะไม่ใช่ภาพที่ละเอียดมาก แต่อย่างน้อยต้องรู้ว่าในช่วงเวลานั้นเกิดเหตุการณ์สำคัญอะไร 1 2 3 4 เช่น คิดถึงศตวรรษที่ 16 โอเค มันคือเรเนซองส์ เป็นยุคฟื้นฟูศิลปะ พอเรารู้ประมาณนี้ จากนี้มันจะไม่ใช่การท่องจำแล้ว แต่เป็นการวิเคราะห์แทน เช่น พอเราเห็นว่าภาพนี้ถูกวาดในศตวรรษที่ 16 เราก็จะ อ๋อ มีการเล่าเรื่องเทพปกรณัม ก็แน่นอนสิ เพราะศตวรรษที่ 16 เป็นการฟื้นฟูศิลปะกรีกโรมันกลับมา เนี่ยเราเอาประเด็นสำคัญของยุคนั้นที่เราจำได้ มาผนวกกับการวิเคราะห์ ดูเก่งขึ้นมาเลยใช่มั้ย555


เล่าขั้นตอนคร่าวๆ ที่ทำให้พี่ป้องได้ย้ายไปอยู่ฝรั่งเศสให้ฟังหน่อย

มันเริ่มต้นง่ายมากเลย เราเรียนเอกภาษาฝรั่งเศส มีโอกาสไปเรียนต่อที่สวิตเซอร์แลนด์ซึ่งใช้ภาษาฝรั่งเศส แต่เราไม่ชอบสวิสฯ เพราะมันเงียบเกินไป เลยตัดสินใจย้ายมาปารีส หลายคนเวลาตัดสินใจจะมีภาพไว้แล้วว่าชีวิตต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ ซึ่งก็ดี เป็นแรงจูงใจในการใช้ชีวิต แต่พี่ไม่ใช่แบบนั้น พี่คงเหมือนกิ้งก่าที่ปรับตัวในสภาพแวดล้อมต่างๆ ได้ ไม่ได้มีเป้าหมายแน่ชัด 

พอย้ายมาอยู่กับแฟนที่ปารีสก็ถึงจุดที่เราจะต้องจดทะเบียนกัน จดเสร็จก็คิดว่า เอ้า เราอายุ 25 26 ก็ควรจะต้องทำงานสิ ว่าแต่จบวรรณคดีหางานยาก งั้นลองเปลี่ยนสายมั้ย พอเปลี่ยนสายปุ๊บก็ทำงานเก็บเงินเรื่อยมา ถึงจุดหนึ่งที่ยอดกู้ของฝรั่งเศสต่ำ เราก็เริ่มคิดเล่นๆ ว่าจะซื้อบ้าน สุดท้ายก็ซื้อบ้าน ใช้ชีวิตมาเรื่อยๆ พอถึงวันนึงบัตรพลเมืองของเราหมดอายุ 10 ปี พอลองศึกษาดู เฮ้ย คุณสมบัติของเราก็เพียงพอจะเปลี่ยนสัญชาตินี่ ก็เลยเปลี่ยน เห็นมั้ย พี่ใช้ชีวิตเหมือนเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้ามากๆ555



วัฒนธรมหรือสิ่งไหนในฝรั่งเศสที่พี่ตกหลุมรักจนตัดสินใจใช้ชีวิตที่นั่น

พี่ว่าไม่มีจุดไหนหรอกที่พี่ตกหลุมรัก ถ้าตกหลุมรักก็จะมีการอกหัก นึกออกป้ะ หลายคนที่มาฝรั่งเศสแล้วรู้สึกไม่เหมือนที่คิดก็จะอกหักง่าย แต่อย่างที่บอก เราเป็นคนที่ไม่ได้มีแพสชั่นต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งขนาดนั้น อยู่ง่ายๆ ถ้าไม่ลำบากก็อยู่ได้วะ การเป็นคนแบบนี้ก็ทำให้เราอยู่ได้ไปเรื่อยๆ


ถ้าพูดอย่างนี้แสดงว่าอยู่ที่ไทยลำบากเหรอครับ

5555 ไม่หรอก อาจจะเป็นจังหวะชีวิตด้วย เอาจริงๆ คนเรื่อยๆ แบบพี่ ถ้าอยู่ไทยก็อาจจะแฮปปี้ก็ได้ ถ้าวันนั้นไม่ได้ตัดสินใจมาเรียนต่อที่นี่ เราก็อาจจะรู้สึกดีกับการอยู่ในประเทศไทยเหมือนกัน


ย้ายไปอยู่ต่างประเทศแบบนี้ที่บ้านเป็นห่วงพี่รึเปล่า

พ่อแม่ก็เป็นห่วงในหลายๆ ด้านแหละ แต่พอเห็นว่าเราเริ่มมีการมีงาน เขาก็ไว้ใจ ไม่ได้ห้ามอะไรมากมาย แม่ค่อนข้างให้อิสระกับพี่ ที่สำคัญคือวันหยุดเราเยอะ ก็เลยได้กลับไทยบ่อย บางปีกลับปีละสามหนก็มี



หลายคนขายว่าสวัสดิการที่ยุโรปดีมาก ดียังไงเล่าให้ฟังหน่อย

ตอนนี้ที่ไทย ใครๆ ก็ถามถึงเรื่องสวัสดิการ พี่ว่ามันมาถึงจุดที่คนไทยเริ่มตระหนักแล้วว่าการที่ทำงานแทบตาย แต่สุดท้ายไม่รวยเป็นเรื่องแปลก เอาจริง ไม่ใช่เพราะคนไทยเงินเดือนน้อยนะ เพื่อนที่ไทยบางคนเงินเดือนสูงกว่าพี่อีก แต่ที่บางคนไม่มีเงินซื้อนู่นซื้อนี่เป็นเพราะว่าที่ไทยมีค่าปัจจัยพื้นฐานบางอย่างที่สูงมาก ค่ารถที่ไทยแพงมาก ดอกเบี้ยที่ใช้กู้ยืมเพื่อซื้อบ้านก็สูง แล้วก็ดูเหมือนจะยังไม่มีการจัดการระบบตรงนี้ที่ดี ในขณะที่ฝรั่งเศสมีการแทรกแซงของรัฐเพื่อควบคุมไม่ให้ค่าปัจจัยสี่สูงเกินไป

ที่เห็นชัดๆ เลยคือเรื่องของสุขภาพ เมื่อก่อนตอนอายุน้อย เราก็ไม่ค่อยได้คิดถึงเรื่องพวกนี้ คิดตลอดว่า ทำไมต้องหักเงินเราไปทุกเดือนเพื่อเป็นค่าภาษี แอบเสียดาย555 แต่พอเริ่มอายุมากขึ้น ร่างกายเริ่มสึกหรอ มีผ่าตัดบ้าง กลายเป็นว่าเราไม่เสียเงินซักบาท แถมไม่ต้องยื่นบัตรอนาถาหรือบัตรคนจน นึกออกมั้ย ไม่ได้ลดความเป็นมนุษย์ของเราเลย


คนไทยบ่นเรื่องชั่วโมงทำงานเยอะมาก ที่ฝรั่งเศสมีปัญหาแบบนี้มั้ย

กฏหมายฝรั่งเศสห้ามทำงานเกิน 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่คำว่าห้ามก็ไม่ถึงกับห้ามซะทีเดียว มีทำเกินบ้าง แต่จะเพิ่มวันหยุดให้สอดคล้องกัน แล้วที่ฝรั่งเศสแทบจะไม่ทำงานผ่านแอปพลิเคชั่นแชทเลย อาจจะมีบ้างที่เป็นการแจ้งเรื่องสำคัญ เช่น วันนี้อย่าลืมหยุดนะ พรุ่งนี้มีอีเวนท์นะ แต่จะมาสั่งงานทาง LINE หรือ WhatsApp คือไม่มี ที่สำคัญคือเขาจะไม่มีการแจ้งเรื่องงานหลังชั่วโมงทำงาน อันนี้ถือว่าเป็นมารยาทสำคัญ 

พี่ว่าการที่ไทยเราทำแบบนี้ไม่ได้ เป็นเพราะไทยไม่มีสหภาพแรงงาน เราจะได้ยินเสมอว่าบริษัทนี้จัดการคนได้ดี บริษัทนั้นดูแลพนักงานไม่ดี คำถามคือทำไมเราทำให้ดีเหมือนกันทุกบริษัทไม่ได้ ด้วยความที่ฝรั่งเศสมีสหภาพแรงงาน ทุกอย่างจึงมีการผลักดันให้เป็นกฎหมายได้ง่ายกว่า อย่างล่าสุดก็มีคนบางกลุ่มเสนอว่าให้เหลือชั่วโมงทำงานแค่ 32 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ได้มั้ยด้วยนะ


อย่าลืมแอดไลน์ @CAMPHUB

แล้วประเทศนี้มีข้อเสียบ้างรึเปล่า

แหม มันก็มีเยอะ ถ้าไม่มีเลยก็กลายเป็นสวรรค์สิคะ555 อย่างที่ปารีส พี่ว่าปัญหาที่ใหญ่ที่สุดคือเรื่องของความปลอดภัย ต้องเข้าใจว่าที่นี่ไม่ได้มีตำรวจเยอะ เราเองเคยโดนจี้มากับตัว พี่ก็บอกโจรว่าเอาไปเลย ให้โทรศัพท์ไปเลย แต่ตอนนั้นยังมีสติก็เลยบอกโจรว่าจะเอาโทรศัพท์ไปก็ได้ แต่ขอซิมการ์ดไว้ได้ไหม555 แล้วคือโจรให้ซิมคืนด้วยนะ พูดง่ายๆ ว่าต้องต่อรองกับโจร อะไรแบบนี้ก็ปวดประสาทเหมือนกัน แต่โอเค มันก็ไม่ได้ไม่ปลอดภัยถึงขั้นว่าต้องใส่เสื้อเกราะมองซ้ายมองขวาอะไรขนาดนั้น เพียงแต่เราก็ต้องระวังตัวเองเยอะหน่อย


แม้ตัวจะอยู่ที่ฝรั่งเศส แต่เราก็เห็นพี่ป้องแสดงความคิดเห็นต่อสถานการณ์บ้านเมืองของไทยบ่อยมาก อยากรู้ว่าในมุมมองของพี่ ประเทศไทยตอนนี้เป็นยังไง

พังแน่5555

คือถ้าสังเกตดีๆ พี่แสดงความคิดเห็นทางการเมืองก็จริง แต่บริบทส่วนตัวของพี่คือพี่ออกมาจากประเทศไทยก่อนจะมีความขัดแย้งเสื้อแดงเสื้อเหลืองซะอีก ดังนั้นพี่ก็ไม่ได้มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนักการเมืองของไทยขนาดนั้น เวลาแสดงความคิดเห็น เราจะไม่พูดถึงพรรคหรือตัวบุคคลเลย จะพูดถึงแค่ภาพรวมของสิ่งที่เกิดขึ้นมากกว่า ระบายว่าเรามีความคิดเห็นยังไงต่อแนวคิดหรือประเด็นนั้นๆ เช่น พูดถึงเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น กฎหมายมาตรา 112 เปรียบเทียบฝั่งฝรั่งเศสกับที่ไทยอะไรแบบนี้


แสดงความคิดเห็นมากๆ ไม่กลัวโดนโจมตีเลยรึเปล่า

มันก็กลัวแหละ เราก็เห็นอยู่บ่อยๆ ที่คนไทยโดนกฎหมายบางอย่างโจมตีโดยที่ไม่ได้ทำอะไรผิดขนาดนั้น ถามว่ากลัวมั้ย ก็กลัว มีคนโจมตีมั้ย ก็มี ช่วงแรกโดนด่าเยอะจนเราคิดในใจว่า บ้าป่ะวะ5555  อยู่ดีๆเข้ามาในไอจีแล้วด่า ช่วงแรกพี่ถึงกับทำไอจีเป็น private เลย แต่พออยู่ไปเรื่อยๆ ก็คิดได้ว่า ในเมื่อมีคนติดตามเยอะ เราก็ไม่ควรหยุดใช้พื้นที่นี้ในการแสดงความคิดเห็น เรายังอยากบอกในสิ่งที่เราเชื่อ ช่วงหลังคนที่โจมตีก็คงจะเบื่อแล้วเลิกไปเอง



ถ้าพี่เป็นนายกของไทย เรื่องแรกที่พี่อยากแก้ไขคือ..

ถ้าต้องหยิบอย่างเร่งด่วนมาเรื่องหนึ่งก็คงเป็นระบบการศึกษาและการคมนาคม

พี่ว่าการศึกษาคือการลงทุนระยะยาว ถ้าเรามีการศึกษาที่ดีและทุกคนเข้าถึงการศึกษาได้ ระบบต่างๆของประเทศจะพัฒนาไปเอง ชุมชนที่การศึกษาดีก็จะมีบุคลากรที่ดี แล้วตัวชุมชนก็จะพัฒนาได้ หรือเอาที่เห็นภาพชัดๆ เลยนะ ต้องยอมรับว่าทุกวันนี้เวลาเราเห็นใครหลายคนแสดงความคิดเห็นทางการเมือง เราตั้งคำถามเลยนะว่าเขาผ่านระบบการศึกษาแบบไหนมา นึกออกมั้ย เราเอ๊ะตลอดว่าความคิดแบบนี้ออกมาได้ยังไง พอมานั่งคิดก็เลยรู้ว่า อ๋อ หรือเขาไม่ถูกปลูกฝังให้คิดวิเคราะห์ตั้งแต่เด็ก เราว่าประเทศควรรีบจัดการกับพื้นฐานตรงนี้โดยด่วน

ส่วนการคมนาคม พี่คิดว่ามันมีความแตกต่างระหว่างเมืองหลวงและชนบทเยอะมาก ลองคิดง่ายๆ ว่าเด็กจบใหม่ได้เงินเดือน 15,000 แต่ทำไมค่าขนส่งสาธารณะสูงมาก เรื่องนี้รบกวนจิตใจเราจริงๆ ยิ่งสมัยที่เราอยู่ไทยนะ บ้านพี่อยู่ไกลถึงวัดเสมียนนารี จากบ้านไปสยามคือใช้เงินเยอะมาก ทั้งที่จริงๆ มันก็ไม่ได้ไกลขนาดนั้น เราต้องนั่งวินมอเตอร์ไซค์ ไปต่อรถเมล์ แล้วยังต้องต่อ BTS อีก ดูสิกว่าจะไปถึงสยาม คือประเทศไทยเป็นประเทศส่งออกอะ แต่ทำไมเรื่องการคมนาคมถึงเป็นแบบนี้ คิดแล้วเศร้า


อยากให้พี่ป้องช่วยให้กำลังใจวัยรุ่นไทยที่ยังต้องทนอาศัยในประเทศนี้หน่อย

พี่ก็ไม่อยากจะบอกว่าเมืองไทยไม่ดีนะ เพราะถ้าพูดแบบนี้ก็คงไม่มีใครอยากจะอยู่แล้ว พี่อยากจะบอกแค่ว่า ตอนนี้โลกมันกว้างมาก ถ้าคุณรู้สึกว่าคุณชอบประเทศไทย คุณก็ต้องสู้เพื่อสิทธิและความต้องการที่คุณสมควรจะได้ แต่ถ้าคุณคิดว่าตัวเองเบื่อหรือเหนื่อยที่ต้องสู้กับอะไรแบบนี้ คุณก็สามารถหนีออกมาได้ ไม่ผิดเลย หรือบางคนลองแล้วไม่ชอบต่างประเทศก็มี ไม่ผิดเหมือนกัน แต่ต้องขอบอกตรงนี้เลยนะว่า คำว่า ‘อยู่ที่ไหนก็เหมือนกัน’ เนี่ยไม่จริง มันจะไปเหมือนได้ยังไง ทางวัตถุต่างกันอยู่แล้ว แต่ถ้าถามว่าที่ไหนดีกว่าหรือแย่กว่าในแง่สภาพจิตใจก็คงเปรียบเทียบกันยาก มันอยู่ที่ว่าน้องเป็นคนแบบไหน น้องชอบอะไร เพราะงั้นก็ถามตัวเองว่าเราแฮปปี้กับชีวิตแบบไหน แล้วก็ลองหาทางใช้ชีวิตแบบนั้นดูให้ได้


ฝากข้อคิดให้กับน้องๆ ที่รู้ตัวแล้วว่าอยากย้ายไปอยู่ต่างประเทศ

ทำเลย ทำเลยจริงๆ คนไทยหลายคนชอบกลัวเรื่องภาษา พี่อยากบอกว่าไม่ต้องกลัวเลย พี่เองก็เคยเป็นหนึ่งคนที่คิดแบบนั้น แต่เอาเข้าจริง ถ้าเราไม่เรื่องมากเกินไป ยังไงก็เอาตัวรอด ถ้าคิดนานน่ะไม่ได้ไปหรอก โอเค ก็ต้องหาข้อมูลในระดับนึงแหละ แต่ก็อย่านานมาก ลองเถอะ ชอบไม่ชอบ ได้ไม่ได้ อย่างน้อยก็ได้ประสบการณ์ ไม่ชอบก็เปลี่ยนประเทศหรือกลับไปไทยก็ได้ คิดจะทำอะไรก็ทำไปเถอะ


อาจจะยาวสักนิดกับ CAMPHUB in focus ในวันนี้ แต่มั่นใจเลยว่าน้องๆ คงได้ข้อคิดและเทคนิคดีๆ ไม่มากก็น้อย แล้วก็อย่างที่เจ๊ป้องบอกไว้ อยากทำอะไรก็ลองเลย ไม่ต้องกลัว ผิดได้ พลาดได้ ไม่ชอบก็ไม่เป็นไร อย่ากังวลไป เพราะถ้าไม่ลองวันนี้ เราอาจไม่เสียดายที่หลังก็ได้นะ และถ้าหากใครไม่อยากพลาดข่าวค่ายหรือบทความดีๆ แบบนี้จาก CAMPHUB ก็อย่าลืมแอดไลน์ไว้เลย ที่ @camphub

เอาล่ะ วันนี้พี่ป้อง ไกลบ้าน และพี่วอร์ม CAMPHUB คงต้องขอลาไปก่อน สุดท้ายนี้ ไม่ว่าน้องจะมีความฝันอะไรหรืออยากใช้ชีวิตที่ไหนก็ตาม พี่ๆ CAMPHUB ทุกคนเป็นกำลังใจให้น้องอย่างเต็มเปี่ยม และเราดีใจมากๆ ที่ได้เป็นส่วนเล็กๆ ที่ช่วยให้น้องได้เดินตามฝันและความต้องการของตัวเอง

สู้ๆ นะทุกคน :)

อย่าลืมแอดไลน์ @CAMPHUB

CAMPHUB in focus พี่ป้อง ชมะนันท์ จันทร์ศรี (Instagram)
สัมภาษณ์ พี่วอร์ม CAMPHUB
เรียบเรียง พี่ปาล์มมี่ CAMPHUB
ตรวจทาน พี่ฟิวส์ พี่แก๊ป CAMPHUB
กราฟิก พี่ไผ่ CAMPHUB

กดแชร์เอาไว้อ่านทีหลัง หรือแชร์ให้เพื่อน คลิกด้านล่างเลยจ้า

ข้อมูลผู้เขียน

พี่ปาล์มมี่