กดแชร์เอาไว้อ่านทีหลัง หรือแชร์ให้เพื่อน คลิกด้านล่างเลยจ้า
CAMPHUB discover with a-chieve

นักข่าวในยุคดิจิทัลทำงานอย่างไร น่าสนใจแค่ไหน มารู้จักให้มากขึ้นกับพี่เอก THE STANDARD

สวัสดีจ้าน้องๆ ทุกคน กลับมาพบกันอีกแล้ว กับ CAMPHUB inspire with a-chieve ชวนรุ่นพี่อาชีพที่น่าสนใจ มาพบปะกับน้องๆ อีกเช่นเคย วันนี้พี่ฟิวส์ พี่วอร์ม ชวน พี่เอก นักข่าวสายการเมืองจาก THE STANDARD สำนักข่าวออนไลน์ที่กำลังฮอตมากกก มาพบกับน้องๆ กัน

การที่เป็นนักข่าวอยู่ในสำนักข่าวออนไลน์แบบนี้ ทั้งต้องออกลุยหาข่าวเอง ทำคอนเทนต์ลงโซเชียล ลงเว็บเอง แล้วยังจัดรายการเองอีกด้วย จะน่าสนุก น่าลอง น่าทำ และน่าสนใจแค่ไหน แล้วการเป็นนักข่าวในยุคดิจิทัลแบบนี้ ต้องมีสกิลอะไรที่มากขึ้นบ้าง และต้องเรียนจบนิเทศรึเปล่าถึงจะมาเป็นนักข่าวได้ เลื่อนไปข้างล่าง หาคำตอบกันเลยจ้าาา..

สวัสดีครับพี่เอก แนะนำตัวกับน้องๆ กันหน่อยครับ

สวัสดีครับน้องๆ พี่ชื่อพี่เอกนะครับ ธนกร วงษ์ปัญญา ตอนนี้ก็เป็น Content Creator ของสำนักข่าวออนไลน์ THE STANDARD ในส่วนของพี่ จะเน้นไปที่การทำข่าวการเมืองและข่าวสังคมของไทยฮะ

เมื่อก่อนมันมีแค่สำนักข่าวที่เป็นโทรทัศน์ วิทยุ และหนังสือพิมพ์ สำนักข่าวออนไลน์ นี่เหมือนหรือต่างจากสำนักข่าวในสื่อแบบเมื่อก่อนอย่างไรบ้าง?

อย่างสมัยก่อนที่สำนักข่าวอยู่บนแพลตฟอร์มของทีวีเนี่ย รายการต่างๆ มันจะถูกจำกัดอยู่ที่เวลา พื้นที่ มันถูกจำกัดด้วยอะไรหลายอย่างที่ไม่ยืดหยุ่น หนังสือพิมพ์นี่ยิ่งหนักเลย จะลงอะไรก็ต้องคัดแล้วคัดอีก พื้นที่มันจำกัด โต๊ะข่าวหน้าหนึ่งก็ต้องเลือก โต๊ะข่าวการเมืองก็ต้องเลือก แต่พอเป็นสื่อออนไลน์ มันไม่จำกัดเลยอะ มันยืดหยุ่นมาก เต็มไปด้วยพื้นที่ให้เรา มีลูกเล่น มีความแปลกใหม่ให้เราได้ทดสอบตัวเอง มันทำให้การรับข้อมูลข่าวสารง่ายขึ้นผ่านเทคโนโลยี แต่ในมุมของการทำงานน่ะ ไม่ว่าจะแพลตฟอร์มไหน หนังสือพิมพ์ ทีวี หรืออนไลน์ เราก็ต้องอยู่กับข้อเท็จจริงอยู่ดี สิ่งที่ต่างคือวิธีการนำเสนอที่ยืดหยุ่นกว่า อาจจะมีคลิป มีพอดแคสต์

ถ้าย้อนกลับไปตอนพี่เป็นวัยนักเรียน ตอนนั้นพี่เอกอยากทำงานอาชีพอะไรครับ

สมัยเป็นนักเรียนอยากเป็นหมอ เราเรียนสายวิทย์ ก็เรียนแบบเรียนหนักเลย ไปเรียนพิเศษ เป็นเด็กห้องคิง แต่วิชาที่เราคะแนนท็อปกลายเป็นวิชาสังคมกับภาษาไทย ส่วนพวกวิชาฟิสิกส์ ชีวะ ก็คือเรียนได้ อาจจะไม่ดีมาก แต่ก็ได้ตามมาตรฐานเด็กสายวิทย์ทั่วไป ตอนนั้นเราก็รู้สึกว่าจริงๆ ตัวเองชอบพวกการเมือง ประวัติศาสตร์ เรามีความสุขกับการอ่านหนังสืออย่างคำพิพากษาของชาติ กอบจิตติ บางเล่มเราอ่านตั้งแต่ ม.ต้น ด้วยซ้ำ ก็คือเรารู้ว่าเราชอบอะไร แต่ว่าใจก็ยังอยากเป็นหมออยู่ อาจจะเพราะอิทธิพลจากครอบครัวด้วย แบบหมอก็ดูเป็นจุดสูงสุดของการเรียนสายวิทย์ตามค่านิยมสมัยนั้น แต่เราเป็นเด็กวิทย์หัวใจศิลป์ ต่อมาก็มาสอบติดคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ในปีถัดมา

แล้วเป็นไงบ้าง พอได้ได้เลือกในสิ่งที่ชอบ

แฮปปี้นะ เหมือนได้ปลดปล่อยตัวเอง เพราะได้เรียนในสิ่งที่ชอบ เราทำกิจกรรมเยอะมาก ห้าวตั้งแต่ปี 1 เลย เราลงสมัครสภานักศึกษา คือเราเป็นเด็กปี 1 อะ ใครจะเลือกเราวะ ไม่มีใครรู้จักเราหรอก สุดท้ายสมาชิกจากพรรคเราได้เข้าไปทำงาน 2 คน ก็มีพี่กับเพื่อนอีกคนนึง แล้วหลังจากนั้นเราก็เป็นสภานักศึกษามาตลอดจนเรียนจบ ก็ได้ออกไปทำกิจกรรมทางการเมือง ได้ทำกิจกรรมเพื่อสังคมต่างๆ เป็นจุดเปลี่ยนให้เริ่มคิดว่า เอ๊ะ หรือเรามีความฝันที่จะเป็นนักข่าว เพราะคงไม่มีอาชีพไหนที่จะได้เห็นทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังของการเมืองเท่ากับอาชีพนี้

แล้วอะไรที่เป็นจุดเริ่มต้นให้พี่ผันตัวเองมาเป็นนักข่าว อย่างทุกวันนี้?

คือมันเริ่มมาจากการที่เราโพสต์ในเฟซบุ๊กว่า ความฝันในชีวิตอย่างนึงที่อยากทำคือการเป็นนักข่าว แล้ววันดีคืนดี อยู่ๆ รุ่นพี่คนนึงทักมาในอินบ็อกซ์ว่าอยากเป็นนักข่าวเหรอ ลองมาคุยมั้ย กับบรรณาธิการมติชน คือตอนนั้นพี่เค้ากำลังจะออกพอดีก็เลยหาคน เราก็ลองไปคุย ปรากฏว่าบรรณาธิการ ตอนนั้นชื่อพี่ติ๊ก เค้าก็จบธรรมศาสตร์มา นิติเหมือนกันด้วย คือเราตกใจนะ เพราะไม่เคยรู้มาก่อนว่าจบกฎหมายแล้วมาเป็นนักข่าวได้ แบบเราก็สงสัยนะว่าจบนิติมา มันจะเป็นนักข่าวได้ดีกว่าคนที่เรียนนิเทศหรือวารสารเหรอ ตอนไปลองคุย พี่เค้าก็ถามเราเรื่องการเมือง ซึ่งเราก็ตอบได้หมด พี่เค้าเลยถามว่าเริ่มงานพรุ่งนี้เลยได้มั้ย เราก็ตอบไป ได้ครับ ก็เป็นจุดเริ่มต้นการเป็นนักข่าวของเรา

ได้มองสายงานอาชีพด้านกฎหมายไว้ด้วยมั้ย

คือช่วงที่จบใหม่ๆ เราก็มีไปทำที่ฝ่ายกฎหมายของบริษัทรับเหมาก่อสร้างชื่อดังแห่งหนึ่ง แต่ทำได้แป๊บเดียวก็เริ่มลังเล มันไม่ใช่งานที่เราชอบ

การเรียนนิติศาสตร์มามีผลให้พี่เลือกเป็นนักข่าวสายการเมืองรึเปล่า?

ไม่ได้มีผลขนาดนั้น เอาจริงๆ เรียนอะไรก็เป็นนักข่าวได้ แต่พี่ก็ต้องยอมรับว่าศาสตร์ของนิติศาสตร์เป็นสิ่งที่พี่นำมาใช้ทำงาน นิติศาสตร์สอนวิธีคิดในเชิงตรรกะ เหตุผล มันก็ติดตัวเรามาจนทุกวันนี้ กฎหมายมันก็ช่วยพี่ในข่าวการเมือง แต่ไม่ใช่ตัวกฎหมายที่ทำให้อยากเป็นนักข่าว การเป็นนักข่าวมันมาจากความชอบของเรามากกว่า

แล้วสกิลนักข่าว พี่ฝึกจากไหน?

พี่มองว่ามันฝึกจากการทำงาน ช่วงแรกที่ทำข่าว มันก็ไม่ได้มีคนมาสอน มาเลคเชอร์เรา ถูกมั้ย พี่ก็ลงสนามข่าวเลย ได้เห็นสถานการณ์จริง ได้เรียนรู้ว่าเราต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้ายังไง เราก็จับสังเกตจากพี่ๆ นักข่าวว่าเออ ควรตั้งคำถามแบบนี้ เราก็อ่านข่าวทุกวัน จะทึกทักว่ารู้แล้วไม่ได้ ทุกวันเราต้องซึมซับวิธีการเขียนข่าวไปเรื่อยๆ จุดไหนต้องระวัง เช่น ห้ามออกชื่อเยาวชน มันก็คือการสั่งสมนั่นแหละ

24 ชั่วโมงของพี่เอกในแต่ละวัน ต้องทำอะไรบ้าง?

ตื่น 6 โมงเช้า ก็ต้องอ่านข่าว สกรีนว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง มีอะไรน่าขยายต่อ แต่จริงๆ แล้วช่วงค่ำของวันก่อนหน้า เราก็จะดูหมายข่าวก่อนว่าพรุ่งนี้จะมีเหตุการณ์อะไรบ้าง เช่น มีอภิปรายไม่ไว้วางใจ มีม็อบที่ไหน แล้วตอนเช้าก็มาสกรีนเพิ่มเติมว่ามีประเด็นใหม่อะไรบ้าง

ตอนสายๆ ก็แบ่งหน้าที่ คุยกันในกองข่าวก่อน แล้วก็ไปคุยรวมในกองข่าวใหญ่ ช่วยกันแตกประเด็น ทุกคนจะได้เห็นภาพรวมว่าทิศทางข่าวในวันนี้จะเป็นประมาณไหน 

จากนั้นก็ลุยกันทำข่าว ไม่มีเลิก ถ้า 5 ทุ่มมีระเบิดก็ต้องรายงาน หรือถ้าเป็นข่าวกีฬา ฟุตบอลเตะกลางคืน ทีมกีฬาก็ต้องทำคอนเทนท์ตอนดึกๆ

นักข่าวก็มีหลายด้าน เช่น เขียนข่าว เล่าข่าว หาข่าว ฯลฯ พี่เอกช่วยยกตัวอย่างให้น้อง ๆ หน่อยว่านักข่าวแต่ละด้านทำงานเชื่อมต่อกันอย่างไร?

ต้องบอกก่อนว่าทุกคนทำหลายที่ อย่างพี่เองก็ลงพื้นที่ด้วย ก็มีเขียนด้วยตอนที่ว่าง ถ้าให้เล่าขั้นตอนง่ายๆ สมมุติพี่ได้ข่าวมาข่าวนึง พี่ก็อาจจะเขียนเองและส่งให้ฝ่าย Sub Editor เค้าก็ช่วยเกลาคำ เรียบเรียง แล้วส่งต่อให้ฝ่ายพิสูจน์อักษรคอยเช็คคำถูกผิด จากนั้นจะส่งไปให้ฝ่ายอาร์ททำรูปประกอบข้อความ ก็ต้องออกแบบขนาดอาร์ทให้เหมาะกับแต่ละแพลตฟอร์ม

การที่พี่เคยอยู่มาทั้งมติชนและที่ปัจจุบัน รู้สึกยังไงบ้าง

รู้สึกต่างกันนะ ที่มติชนเหมือนเราทำงานเชิงรับอะ คือมีคนทำข่าวมาให้ แล้วเราจะคอยอ่านข่าว ลงข่าว แล้วแตกประเด็นไปทำข่าวอื่นๆ อาจจะไม่ได้ลงภาคสนามมาก แต่พอมาทำ THE STANDARD เราทำหมดเลย อยู่ในสนามก็ต้องคิดว่าจะเล่าเรื่องแบบไหน เราต้องปรับตัวตลอดเวลา ต้องหาความรู้ตลอด คือมีมัลติสกิลในการทำสื่อมากๆ

ความยากหรือความท้าทายของงานที่พี่กำลังทำ ในมุมมองของพี่เอกมีอะไรบ้าง?

จากที่พี่ทำมา 3 ปี มันก็ยังเตาะแตะอยู่นะ เราก็ยังพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา คือเราก็อยากเป็นอันดับ 1 แต่ในเชิงการทำงาน ทุกอย่างมันก็ปรับตัวตลอด แพลตฟอร์ม วิธีการทำงาน เปลี่ยนแปลงตลอด กลายเป็นว่าเราเองก็ต้องปรับตัว เพราะเราเองก็อยู่ในสนามที่เป็นการแข่งขัน อนาคตเราอาจจะต้องเพิ่มคน อาจจะต้องทำข่าวภูมิภาค ก็ยังมีความท้าทายในการปรับรูปแบบไปตามยุคสมัย

หลายๆ คนกังวลว่า การเป็นนักข่าวภาคสนามที่ต้องทันสถานการณ์ หรือต้องสแตนด์บาย พร้อมลงพื้นที่ตลอดเวลา มันจะส่งผลต่อการจัดการเวลาของตัวเอง อันนี้จริงมั้ยครับ?

คือต้องบอกเลยว่าพี่ Work-Life Balance ดีมาก พี่นอนดึกตื่นเช้าทุกวันนะ แต่ก็ยังมีเวลาออกกำลังกาย คือพี่จะตื่น 6 โมงทุกวันเหมือนเป็นนาฬิกาชีวิต ก็ตื่นมาประชุมข่าว ทำนู่นทำนี่ หลังจากนั้นก็เตรียมตัวเดินทางไปทำข่าว ก็คือเราจะวางแผนตั้งแต่คืนก่อนหน้า ว่าวันรุ่งขึ้นเราจะทำอะไร คือโดยรวมเราก็บ้างานแหละ แต่วันไหนถ้าว่างช่วงเย็นเราก็ออกกำลังกายบ้าง แล้วพี่ก็ติดโซเชียลมากนะ ทำทุกอย่าง TikTok พี่ก็เล่น 5555

สกิลที่สำคัญที่จะทำให้เราทำหน้าที่เป็นนักข่าวได้เหมาะกับยุค 2021 พี่เอกมองว่าต้องมีอะไรบ้าง

อย่างแรกคือคุณต้องติดตามข่าว ต้องรู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นที่ไหน ที่สำคัญที่สุดคือต้องเรียนรู้ตลอดเวลา หยุดเรียนรู้ไม่ได้ และในยุคนี้ คุณอาจจะต้องมีมัลติสกิล (Multi-skill) ต้องทำหน้าที่ได้หลากหลาย อาจจะตัดคลิปได้ ไลฟ์ได้

สกิลดิจิทัลสำคัญมั้ย?

สำคัญนะ เพราะอัลกอริทึ่มที่มันเปลี่ยนแปลง (การที่โซเชียลเลือกคอนเทนต์มานำเสนอเรา ที่ระบบ “คาดว่า” เราจะชอบและสนใจ) มันก็มีผลกับการรับสื่อของคน เราก็ต้องดูว่าคอนเทนต์แบบไหนที่จะไปถึงมือผู้บริโภค ถ้าตัวหนังสือไม่เวิร์คแล้ว ลองเปลี่ยนมั้ย เป็นวิดีโอ เป็นอินโฟกราฟิก ซึ่งเราไม่เรียนรู้ไม่ได้ เพราะเราพึ่งพาแพลตฟอร์มพวกนี้

แล้วถ้าพูดไม่ได้เลย ถนัดแต่การเขียน สามารถเป็นนักข่าวได้มั้ย?

ทำได้ คือขอให้มีหัวใจของการสงสัยแล้วค้นหาคำตอบ แต่วิธีการในการค้นหาก็แล้วแต่ความถนัด ใครถนัดตั้งคำถาม ก็เป็นนักข่าวสายนั้น ใครเก่งเชิงข้อมูล ก็เป็นประโยชน์ต่อการเป็นนักข่าวเหมือนกัน

นักข่าวที่จบสายสื่อสารมวลชนมาโดยตรง กับนักข่าวที่จบด้านอื่นมา จริงๆ แล้วใครได้เปรียบเสียเปรียบกว่ากันในมุมมองพี่เอก?

เอาจริงๆ ก็ต้องมาเรียนรู้ตอนทำงานนะ สุดท้ายแล้วทฤษฎีกับปฏิบัติมันก็ต่างกัน คนที่จบวารสารอาจจะมีต้นทุนในเชิงการเขียนข่าวหรือรู้ทักษะการนำเสนอมากกว่า แต่ในมิติอื่นๆ พวกความลึกของข้อมูล คนที่เรียนด้านนั้นๆ มาก็อาจจะถนัดกว่า คนที่จบเศรษฐศาสตร์มาก็อาจจะเขียนข่าวการเงินได้ดี สุดท้ายมันก็มีข้อได้เปรียบเสียเปรียบ

บทบาทหรือคุณค่าความสำคัญของอาชีพนี้ ต่อสังคมในมุมมองของพี่เอกคืออะไร?

คือสื่อก็เหมือนกระจกกับตะเกียง สื่อมีหน้าที่สะท้อนความจริงที่เกิดขึ้น ทั้งยังนำพาสังคมไปในทิศทางที่ดีเท่าที่เป็นไปได้ หลายคนอาจจะพูดว่าใครๆ ก็เป็นสื่อได้ แต่ความจริงมันไม่ง่ายนะ มันใช้ความรับผิดชอบสูงมาก เพราะสื่อมีบทบาทสำคัญต่อสังคม เป็นสถาบันสำคัญที่ก็ต้องพิสูจน์ตัวเองอยู่ตลอดเวลา

โซเชียลมีเดียเปลี่ยนวงการข่าวยังไงบ้าง ทั้งการนำเสนอข่าว และการหาแหล่งข่าว?

เปลี่ยนแปลงมาก เมื่อก่อนคือต้องโทร ไม่ก็นัดเจอ เดี๋ยวนี้คืออินบ็อกซ์ก็ได้ หรือ Zoom ก็มี อย่างล่าสุด พี่ทำข่าวเมียนมาร์ นักวิชาการท่านนึงอยู่ปากช่อง ถ้าเป็นเมื่อก่อนอาจจะต้องโทรคุย แต่เดี๋ยวนี้เราสามารถสัมภาษณ์แบบ Face-to-face ได้ทาง Zoom สะดวกมาก แต่ขณะเดียวกันมันก็เป็นดาบสองคมนะ มันก็มีหลายครั้งที่สื่อเอาข้อมูลจากโซเชียลมีเดียมาใช้ แล้วมาพบว่าเป็นข้อมูลที่ไม่จริง ก็เกิดเป็นดราม่าอีก ดังนั้นโซเชียลมีเดียทำให้ภูมิทัศน์ของการนำเสนอข่าวเปลี่ยนไปแน่นอน มันสะดวกขึ้น แต่เราก็ต้องตรวจสอบด้วย

การที่โซเชียลเรียนรู้พฤติกรรมของผู้ใช้ว่าชอบคอนเทนต์อะไร แนวไหน แล้วเลือกคอนเทนต์แนวๆ นั้นมาให้ผู้ใช้ดูเยอะๆ หลายๆ คนเชื่อว่าจะทำให้เกิด Echo Chamber ได้ รับแต่สื่อที่ตนเองสนใจ โดยที่สื่อในฝั่งตรงข้าม ได้รับการเข้าถึงที่น้อยกว่าหรือไม่เข้าถึงเลย พี่เอกคิดยังไงกับเรื่องนี้บ้าง?

ก็ต้องยอมรับว่าเออ โซเชียลมีเดียก็มีส่วนในการคัดแยกเนื้อหาตามความสนใจของเรา มันเหมือนบังคับให้เราสนใจสิ่งเหล่านี้ แต่สุดท้ายมันก็อยู่ที่วิธีการใช้โซเชียลมีเดียของเรามากกว่า อย่างพี่เอง เวลาพี่ตามข่าว พี่ก็ดูจากหลายๆ สำนัก ถ้าเป็นข่าวการเมืองก็ต้องดูทั้งสองขั้ว เราจะเห็นเส้นของสังคมว่าเรื่องเดียวกันสามารถทำให้ความรับรู้ในมิติการเสพข่าวมันต่างกันไป ซึ่งสำนักข่าวอาจจะยึดโยงกับคนที่ติดตามสำนักข่าวนั้นๆ ทำให้สุดท้ายก็เป็นพฤติกรรมของเราที่จะเลือกสนใจสิ่งที่ไม่ได้ตรงกับความเชื่อของเรารึเปล่า

ในมุมมองของพี่เอกคิดว่าอุตสาหกรรมข่าวจะมีพัฒนาการไปอย่างไรบ้างในอนาคต?

เอาจริง อุตสาหกรรมข่าวก็ถูก Disrupt มาเยอะนะ ทุกเจ้าก็ต้องปรับตัวกันไป เราก็ต้องดูว่าคนสนใจอะไร หลายคนบอกว่าอาชีพนี้กำลังจะตาย เพราะทุกคนเป็นสื่อได้ แค่ไลฟ์ก็เหมือนรายงานข่าวแล้ว แม้แต่เอเจนซี่ก็มีเพจของตัวเอง ถ้าจะโปรโมตอะไรซักอย่าง แต่ละแบรนด์ก็ทำได้เอง ไม่ได้ต้องพึ่งพาสื่อเท่าเมื่อก่อน สื่อก็ต้องปรับตัว ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กลุ่มคนต่างๆ ทั้งในเชิงเนื้อหาและธุรกิจ มันคงขยับตัวเองเปลี่ยนไปตามพลวัตรของสังคม

พี่เอกทำอาชีพนี้มาก็นาน แล้วเคยเบื่อๆ เซ็งๆ หมดไฟบ้างมั้ยครับ?

ยังไม่เคยรู้สึกอิ่มตัวนะ คือวันนี้เราตอบตัวเองได้ว่าอยากเป็นนักข่าวต่อไป เราไม่อยากเป็นอาชีพอื่นแล้ว แต่ยอมรับว่ามีภาวะหมดไฟบ้าง มีเหนื่อย อยากผ่อนคลายตัวเอง แต่สุดท้ายในงานของเรามันก็ยังมีความท้าทายอยู่เยอะ มันมีความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ตลอด ก็ยังมีอะไรให้เราได้คิดตลอด

แล้วเคยขี้เกียจบ้างรึเปล่า?

มีบ้าง แต่น้อย มันอาจจะเป็นวิธีการมองโลกของเรา เราว่ามีงานทำดีกว่าไม่มีงานทำ 5555 มันก็มีหน้าที่หลายอย่างที่เราปล่อยวางไม่ได้ เราอยากทำงานให้เสร็จเพื่อจะได้พักผ่อน สรุปก็คือ เราไม่ได้ขี้เกียจขนาดนั้น 5555.. แต่มันก็มีแหละ ก็มนุษย์อะ แต่แบบพอขี้เกียจเราก็ไปทำอยู่ดี อาจจะเบื่อเนื้อหาที่ต้องทำ แต่เราก็ลุกไปทำมันอยู่ดี

พี่เอกทำอะไรอย่างอื่นอีกด้วยมั้ย งานอดิเรก

ทำๆๆ พี่เปิดร้านอาหารนี่ไง อยู่ที่ BTS กรมทหารราบที่ 11 เป็นคาเฟ่อยู่ชั้น 2 ร้านยำอยู่ชั้นล่าง คือพูดตรงๆ เราก็ไม่ได้มีเวลาทำขนาดนั้นนะ เพื่อนมาชวน แต่ว่าง ๆ เราก็เข้าประชุมตลอด ช่วยวางแผนบ้าง เออ เราก็ได้เห็นอีกมุมนึงของการทำธุรกิจ เราก็เข้าใจหัวอกคนทำธุรกิจมากขึ้น ยิ่งช่วงโควิดก็ต้องแบกรับต้นทุนเยอะอยู่

งานอดิเรกอื่นๆ ช่วงนี้มีซื้อต้นไม้มาเลี้ยง มีเข้าฟิตเนสบ้าง นอกจากนั้นก็เป็นสายกิน ตระเวนกินอยู่เหมือนกัน เข้าวัดเข้าวาก็ชอบนะ เวลาเหนื่อยๆ ขี้เกียจก็มีไปที่สงบๆ เติมไฟให้ตัวเอง

ขอคำแนะนำจากพี่เอกให้น้องๆ ที่ใฝ่ฝันอยากจะเป็นนักข่าวแบบพี่ สักหน่อยครับ

สำหรับคนที่มีความฝันอยากเป็นอะไรก็แล้วแต่ ไม่ต้องนักข่าวก็ได้ คุณต้องถามตัวเองว่ามันเป็นแค่สิ่งที่เราเชื่อว่าเป็นความฝัน หรือเป็นสิ่งที่เรารู้สึกกับมันจริงๆ มันพูดง่ายนะว่าหาสิ่งที่ตัวเองรัก ทำงานที่ตัวเองชอบ แต่มันทำยากนะ ก็พยายามศึกษาหาแก่นของมัน ว่าในสภาพการทำงานของสิ่งที่เราสนใจ มันตรงกับภาพที่เราคิดมั้ย อย่างถ้านักข่าวนะ 3 ข้อที่น้องต้องมีคือ 1. ต้องชอบอ่านข่าว ต้องสนใจการเปลี่ยนแปลงของสังคม 2. สงสัย ตั้งคำถามกับสิ่งต่าง ๆ และสุดท้ายคือต้องอยากหาคำตอบ นักข่าวมันคืออาชีพหมาล่าเนื้อ มันเป็นอาชีพที่ต้องตามล่าหาข้อมูล งานน้อย คอยนาน เงินเดือนไม่ได้มาก

ให้กำลังใจน้องๆ ทุกคน ที่กำลังค้นหาตัวเอง และกำลังเตรียมตัวสอบเข้ามหาลัย

อยากจะให้ทุกคนสนุกกับการใช้ชีวิตในทุกช่วงเวลามากกว่าจะเคร่งเครียดกับมัน ชีวิตมันยังมีอีกหลายสเต็ป การเข้ามหาวิทยาลัยอาจจะเป็นความท้าทายแรก เราจะรับมือกับมันยังไง ต้องพยายามแบบไหนเพื่อจะเข้าที่ๆ เราต้องการ พยายามฝ่าด่านของเราไปให้จงได้

แนะนำ THE STANDARD ให้น้องๆ ได้รู้จักมากขึ้น?

เวลาคนพูดถึง THE STANDARD เนาะ ถ้าแปลกันตรงๆ มันก็ดูจะแปลว่าสำนักข่าวมาตรฐานอะไรงี้ใช่มั้ย แต่เอาจริงๆ ก็ต้องเล่าก่อนว่าที่นี่เกิดขึ้นมาจากกลุ่มคนที่ต้องการเปลี่ยนจากคนทำงานนิตยสารมาทำงานสำนักข่าว ซึ่งก็เกิดจาก Founder อย่างพี่โหน่ง (วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์) ที่อยากทำสิ่งนี้มาตั้งนานแล้ว เพราะแกก็อยากทำสำนักข่าวเพื่อคนตัวเล็ก ทำสำนักข่าวที่เปลี่ยนแปลงสังคม ทีนี้ ถ้าถามว่าคืออะไร มันก็เป็นสำนักข่าวออนไลน์ที่เกิดขึ้นมาเพื่อที่จะพิสูจน์ว่าสำนักข่าวออนไลน์มันเกิดขึ้นได้จริง น่าเชื่อถือมากพอ และไปรอดได้

THE STANDARD เราเป็นสำนักข่าวเชิงสร้างสรรค์ อยู่กับความเป็นจริง ข้อเท็จจริง แต่ก็ใช้โปรดักชั่นต่างๆ ตอบสนองสังคมด้วยแพลตฟอร์ม เครื่องมือ และสติปัญญาที่ต้องการให้สังคมเดินไปในทางที่ดีขึ้น แต่การที่เราใช้ชื่อ The Standard มันไม่ได้หมายความว่าเราจะไปขีดเส้น หรือบอกว่าสำนักข่าวเราเป็นมาตรฐานที่สุด แต่คำนี้มันเป็นมาตรฐานที่เราอยากไปถึง เช่น ถ้าคำว่าสิ่งที่ดีมันคืออะไร เราก็อยากเป็นแบบนั้น เราอยากเป็นสื่อที่ดีตามมาตรฐานที่สังคมคาดหวัง เออ ชื่อมันใหญ่นะ ตอนตั้งชื่อก็มีคนบอก แต่เราก็มีความตั้งใจที่จะทำสิ่งนี้ให้เป็นสำนักข่าวเชิงสร้างสรรค์ที่ตอบสนองสังคมให้ได้ 

ซึ่งตอนนี้เราก็มีครบ ทั้งเศรษฐกิจ การเมือง สังคม บันเทิง กีฬา เราก็มีคอนเทนต์ที่หลากหลาย ยืดหยุ่น เราก็พยายามพิสูจน์ตัวเองว่าเราเป็นสำนักข่าว แม้จะอยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์

เป็นยังไงกันบ้างเอ่ย กับเรื่องราวของนักข่าวในยุคดิจิทัลที่พี่เอกมาเล่าให้น้องๆ ได้ฟังกัน ถ้าน้องๆ คนไหนอยากเป็นนักข่าว ก็ลุยกันเลย จะเรียนสายนิเทศ หรือเรียนสายไหนก็ได้ แต่ระหว่างเรียนก็ต้องฝึกสกิลการเล่าเรื่องราว การสื่อสารให้คุ้นชิน ไม่ว่าเราจะเป็นนักข่าวสายไหน ก็สื่อสารได้อย่างเข้าใจ คนรับสารก็แฮปปี้แน่นอน ส่วนอีพีหน้า CAMPHUB และ a-chieve จะพาน้องๆ ไปรู้จักกับอาชีพไหนกันอีก ก็ต้องติดตามกัน สำหรับอีพีนี้ บ๊ายบายจ้า ฟิ่วววว ~~

inspirer พี่เอก ธนกร วงษ์ปัญญา
สัมภาษณ์ พี่ฟิวส์ พี่วอร์ม CAMPHUB
ถ่ายภาพ พี่ซัน CAMPHUB
กราฟิก พี่เตย CAMPHUB
ขอขอบคุณสถานที่ THE STANDARD

กดแชร์เอาไว้อ่านทีหลัง หรือแชร์ให้เพื่อน คลิกด้านล่างเลยจ้า

ข้อมูลผู้เขียน

พี่ฟิวส์

พี่ชื่อฟิวส์ ตอนนี้จบวิศวเคมี บางมดแล้ว ตอน ม.ปลาย ก็เป็นเด็กล่าค่ายประมาณนึงเลย พูดเลยว่า "ถ้าไม่ได้เข้าค่าย ก็ไม่ได้มาทำ CAMPHUB นะ" อยากให้น้องๆ หาโอกาสไปลองเข้าค่าย ทำกิจกรรมกันดูนะ เผื่อเราจะได้เจอคำตอบว่า "เราอยากเรียน อยากทำสิ่งๆ นี้ จริงๆ มั้ย?"

ข้อมูลผู้เขียน

พี่วอร์ม

ข้อมูลผู้เขียน

พี่ซัน

ข้อมูลผู้เขียน

พี่เตย